คาราเต้

ประวัติของคาราเต้

คาราเต้ (「 空手」, karate, – คะระเตะ ?) หรือ คาราเต้โด (「空手道」, karatedo, – คะระเตะโด , วิถีมือเปล่า) เป็นศิลปะการต่อสู้ถือกำเนิดที่โอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น เป็นการผสมผสานระหว่างการต่อสู้ของชาวโอกินาวาและชาวจีน คาราเต้ได้เผยแพร่เข้าสู่ญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2464 (ค.ศ. 1921) เมื่อชาวโอกินาวาอพยพเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่น
คาราเต้มักถูกเข้าใจผิดว่า เป็นการต่อสู้ด้วยการฟันอิฐ แต่ที่จริงแล้ว คือการต่อสู้ด้วยการใช้อวัยวะต่างๆ ในร่างกาย เช่น กำปั้น เท้า สันมือ นิ้ว ศอก เป็นต้น แต่เมื่อถูกดัดแปลงเป็นกีฬาแล้วเหลือเพียงมือและเท้า

ประวัติ
สมัยคริสตศตวรรษที่ 14 โอกินาวาได้มีการติดต่อการค้ากับทางจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีมานานมากตั้งแต่สมัยอดีต ในขณะนั้นได้มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม วิชาการความรู้แขนงต่างๆ รวมถึงศิลปะการป้องกันตัว โอกินาวาได้มีศิลปะการต่อสู้ประจำอยู่แล้ว และได้ผสมผสานกับทักษะที่ได้รับมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งก็คือมวยใต้ และเส้าหลินใต้ในฟูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) แล้วพัฒนาต่อเนื่องเรื่อยมา จนสามารถเรียกว่าเป็นต้นกำเนิดของคาร าเต้ โดยโอกินาวาจะเรียกศิลปะป้องกันตัวของตนเองว่า โทเต้ (Tode) ในภาษาโอกินาวา (หรือในภาษาญี่ปุ่นจะเรียก โอกินาวาเต้)

ชูริเต้ มวยแห่งเมืองชูริ

โซคอน มัทสุมูระ ( Sokon Mutsumura ) ผู้เชี่ยวชาญแห่งชูริเต้ได้เดินทางไปจีนเพื่อศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมความรู้ของตนและนำกลับมาพัฒนาชูริเต้ ความรู้ใหม่ที่โซคอนนำมาก็คือ ทักษะของมวยสิงอี้ฉวน ต่อมา โชกิ โมโตบุ Shoki Motobu ผู้เชี่ยวชาญแห่งชูริเต้ ได้แลกเปลี่ยนความรู้กับ T’ung Gee Hsing (ผู้สืบทอดวิชาสิงอี้ และปากั้ว ซึ่งอพยพมาอยู่ที่โอกินาวา) ต่อมาปีค.ศ. 1922 ฟูนาโกชิ กิชิน ลูกศิษย์ของ อังโก อิโตสึ ( Anko Itosu ) แห่งชูริเต้ ได้พัฒนาคาราเต้ และเผยแพร่เข้าสู่ญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการที่โตเกียวโดยได้รับการสนับสนุนของ จิกาโร่ คาโน ( Jikaro Kano ) ผู้ก่อตั้งยูโดโคโดกัน Kodokan Judo และต่อมา บรรดาศิษย์ของฟูนาโกชิ ได้เรียกรูปแบบการสอนของฟูนาโกชิว่า โชโต ( Shoto 松涛 ) ตามนามปากกาของท่าน และได้เรียกโรงฝึกแห่งแรกของท่านว่า โชโตกัน

นาฮาเต้ มวยแห่งเมืองนาฮา

คันเรียว ฮิกาอนนะ ( Kanryo Higaonna ) ลูกศิษย์ของ อาราคากิ เซย์โช ( Arakagi Seisho ) ผู้เชี่ยวชาญนาฮาเต้ ได้เดินทางสู่ฟูเจี้ยนเพื่อหาประสบการณ์และศึกษาวิชาการต่อสู้ของจีน ได้เรียนกับ ริวริวโก ( Ryu Ryu Ko ) ผู้เชี่ยวชาญมวยจีน และเดินทางกลับมาพัฒนานาฮาเต้ ต่อมา โชจุน มิยากิ ( 宮城 長順 Miyagi Chojun, 1888-1953 ) ผู้สืบทอดนาฮาเต้ของคันเรียว ได้เปลี่ยนชื่อสำนักนาฮาเต้ เป็น โกจูริวคาราเต้ ( 剛柔流空手 ) เพื่อพัฒนาให้ทันสมัย และได้เข้ามาในญี่ปุ่นและเริ่มทำการสอนคาราเต้ (แต่เดิมสอนอยู่ในโอกินาวา) เป็นเวลาไม่นานนักหลังจาก ฟูนาโกชิ แห่งโชโตกัน หลังจากที่ มิยากิ ได้ทำการสอนในญี่ปุ่นและโอกินาวา ท่านได้ตัดสินใจเดินทางไปยังประเทศจีนแผ่นดินใหญ่เพื่อศึกษาในด้านของมวยจีนตามแบบอาจารย์ของตน และได้กลับมาญี่ปุ่นอีกครั้งเพื่อเรียบเรียงตำราการฝึกสอนของสำนักโกจูริวขึ้นใหม่ ให้เหมาะสมกับที่ท่านได้เรียนรู้มา

ความหมายคำว่า คาราเต้
คำว่า “คาราเต้” เดิมทีมาจากการออกเสียงแบบชาวโอกินาวา ตัว “คารา” 唐 ในภาษาจีน หมายถึง “ประเทศจีน” หรือ “ราชวงศ์ถัง” ส่วน “เต้” 手 หมายถึง มือ คาราเต้ หมายความว่า “ฝ่ามือจีน” หรือ “ฝ่ามือราชวงศ์ถัง” หรือ “กำปั้นจีน” หรือ “ทักษะการต่อสู้แบบจีน” ในรูปแบบการเขียนแบบนี้ “ฝ่ามือราชวงศ์ถัง” จึงหมายถึง การต่อยมวยแบบถัง หรือ “ฝ่ามือจีน” ก็บ่งบอกถึงอิทธิพลที่รับมาจากลักษณะการต่อสู้ของชาวจีน ในปีค.ศ. 1933 หลังจากสงครามระหว่างจีนกับญี่ปุ่นครั้งที่ 2 กิชิน ฟุนาโคชิ ( 船越義珍 Funakoshi Gichin, 1868-1957 ) ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะ บิดาแห่งคาราเต้สมัยใหม่ ได้เปลี่ยนตัวอักษร “คารา” ไปเป็นตัวอักษรที่มีเสียงเหมือนกันแต่มีความหมายว่า “ความว่างเปล่า” 空 แทน
เมื่อปีค.ศ. 1936 หนังสือเล่มที่สองของฟุนาโคชิใช้ตัวอักษร “คารา” ที่มีความหมายว่าความว่างเปล่า และในการชุมนุมบรรดาอาจารย์ชาวโอกินาวาก็ใช้ตัวอักษรเดียวกัน ตั้งแต่นั้นมาคำว่า “คาราเต้” ( ซึ่งออกเสียงเหมือนเดิม แต่ใช้ตัวอักษรใหม่ ) จึงหมายถึง “มือเปล่า”
คำว่า “มือเปล่า” ไม่เพียงแต่นักคาราเต้จะต่อสู้โดยปราศจากอาวุธแล้ว ยังซ่อนความหมายตามความเชื่อแบบเซ็นไว้ด้วย เพราะตามวิถีแห่งเซ็นการพัฒนาความสามารถ และศิลปะของแต่ละบุคคล จะต้องทำจิตใจให้ว่างเปล่า ละเว้นจากความปรารถนา ความมีทิฐิและกิเลสต่างๆ

คาราเต้ แปลว่า วิถีแห่งการใช้มือ (ร่างกาย) ต่อสู้โดยปราศจากอาวุธ วิถีแห่งคาราเต้เป็นวิธีการดึงพลังจากทั้งร่างมารวมให้เป็นหนึ่งในการต่อสู้โจมตี ซึ่งความรุนแรงของการโจมตีนั้นมีคำกล่าวถึงว่า “อิคเคน ฮิซัทสึ”( 一拳必殺 ) หรือ “พิชิตในหมัดเดียว” สิ่งที่สำคัญของคาราเต้คือการต่อสู้กับตนเอง เช่นการฝึกยั้งแรงการโจมตี โดยใช้ในการหยุดโจมตีเมื่อสัมผัสร่างกายคู่ต่อสู้แม้เพียงเล็กน้อย เพื่อให้เกิดความรู้สึกเจ็บไม่มากและป้องกันการบาดเจ็บ ซึ่งเป็นการฝึกการกำหนดความรุนแรงของการโจมตี เมื่อผู้ฝึกสามารถยั้งแรงได้ เขาก็จะเพิ่มความรุนแรงในการโจมตีได้จนถึงขีดความสามารถเช่นเดียวกัน

คำว่า โด แปลว่า วิถีทาง ลู่ทาง ศาสตร์ อีกทั้งยังหมายถึงปรัชญาเต๋าอีกด้วย โด เป็นคำต่อท้ายที่ใช้สำหรับศิลปะหลายชนิด ให้ความหมายว่า นอกจากจะศิลปะเหล่านั้นจะเป็นทักษะแล้ว ยังต้องมีพื้นฐานของจิตวิญญาณอยู่ด้วย สำหรับในความหมายที่เกี่ยวข้องกับศิลปะการต่อสู้ อาจจะแปลได้ว่า “วิถีแห่ง…” เช่น ใน ไอคิโด ยูโด เคนโด ดังนั้น “คาราเต้โด” จึงหมายถึง “วิถีแห่งมือเปล่า”
“โด” อาจมองได้ 2 แบบ คือ แบบปรัชญา และแบบกีฬา

“โด” แบบปรัชญา ด้วยความหมายที่แปลว่า วิถีทาง และเป็นชื่อศาสนาเต๋าของศาสดาเหล่าจื๊อ ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากในด้านปรัชญาพุทธศาสนานิกายเซนของญี่ปุ่น การตีความหมายคำนี้ จึงอาจมองได้ว่า วิถีทางการดำเนินชีวิต จิตวิญญาณของนักคาราเต้ เป็นต้น ซึ่งนักคาราเต้บางท่าน อาจใช้ คาราเต้ เป็นวิถีแห่งการเข้าถึง จิตวิญญาณแห่งธรรมชาติ(เต๋า เซน) ได้ ดังนั้น คำว่า “โด” ของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน เพราะแต่ละคนจำมีวิธีการในการเดินแตกต่างกัน “โด” แบบกีฬา จริง ๆ ในปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่ามีทั้งคำว่า คาราเต้ และ คาราเต้โด ทำไมต้องเพิ่มคำว่า โด คำว่า “โด” เริ่มใช้ครั้งแรกในศิลปะป้องกันตัว ยูโด โดยปรมาจารย์จิกาโร่ คาโน แห่งโคโดกันยูโด เพื่อเปลี่ยนแปลง และแบ่งแยกวิชาใหม่ โดยแยกตัวออกจากวิชา ยูยิทสุ ซึ่งยูโดได้ตัดทอนกระบวนท่าที่อันตรายออกไป เพื่อการฝึกฝนได้อย่างเต็มที่ และสามารถจัดการแข่งขันได้
คาราเต้ แต่เดิมไม่มีคำว่าโด เช่นกัน แต่ก่อนจะเรียกว่า คาราเต้จิทสุ หรือว่า คาราเต้ แต่เริ่มใช้คำว่า “โด” เมื่อมีการจัดการแข่งขันชิงชนะเลิศ ซึ่งต้องรวมนักคาราเต้จากทั้ง 4 สำนักใหญ่เข้าไว้ จึงต้องบัญญัติกฏการแข่งขันใหม่ ลดทอนการจู่โจมที่อันตราย และสามารถแข่งขันกันได้อย่างเต็มที่ และเป็นกลางที่สุด คำว่า “โด” ในคาราเต้จึงเกิดขึ้น และมีความหมายว่า วิถีทางการต่อสู้ในรูปแบบของคาราเต้ ซึ่งคำว่าคาราเต้โด โดยมากจะใช้ในการแข่งขัน

คาราเต้

 

CR. http://www.sakuradojo-th.com/c908.html

ใส่ความเห็น