ศิลปวัฒนธรรม

ศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่น
ลักษณะเด่นของวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่นักวิชาการ และ นักวิจัยทั้งใน และ นอกประเทศได้กล่าวไว้มีมากมาย
ในที่นี้จะขอกล่าวถึงลักษณะเด่นๆ 4 ประการดังต่อไปนี้


ความหลากหลาย

วัฒนธรรมญี่ปุ่นเป็นวัฒนธรรมหลากหลาย อันเนื่องมาจากการเข้ามาอยู่ด้วยกันแต่ไม่ได้หลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวของวัฒนธรรมที่มีรากฐานแตกต่างกัน ตัวอย่างมีให้เห็นมากมายโดยรอบตัวเรา เช่น วัฒนธรรมทางการเมืองของญี่ปุ่น จะเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นระบบใหม่ที่ประกบเข้าไปในระบบการเมืองแบบเก่าของญี่ปุ่นเสื้อผ้า อาหาร ที่อยู่อาศัยของชาวญี่ปุ่น เป็นการปะติดปะต่อกันของสไตล์ตะวันตก ศาสนาก็นับถือไปหมดทั้งพระเจ้าและพระพุทธเจ้า แม้ในภาษาญี่ปุ่นที่ใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวันก็มี คำที่มาจากภาษาจีนกว่าครึ่งสาเหตุที่ชนชาติญี่ปุ่นสามารถปะติดปะต่อวัฒนธรรมหลากหลายเข้าด้วยกันจนเป็นวัฒนธรรมประจำชนชาตินั้น ได้แก่ การที่ชาวญี่ปุ่นมีความกระตือรือร้น สนใจในวัฒนธรรมที่แปลกออกไป กับการที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่จะรับวัฒนธรรมต่างชาติได้ตามที่จำเป็นโดยมิได้ถูกรุกรานแทรกแซงจนวัฒนธรรมดั้งเดิมสูญเสียไป


ความเป็นเอกภาพ

วัฒนธรรมญี่ปุ่นไม่ได้แตกต่างกันไปตามท้องที่ศาสนาหรือแม้แต่ปัจเจกบุคคล ไม่ว่าชาวญี่ปุ่นผู้นั้นจะอาศัยอยู่ที่ใด จะนับถือศาสนาอะไรหรือจะเป็นคนอย่างไร วัฒนธรรมที่ติดตัวเขานั้นก็แทบจะเหมือนกับชาวญี่ปุ่นคนอื่นๆ ทุกประการ
เปรียบวัฒนธรรมของญี่ปุ่นเหมือน ขนมคินทาโร (kintarou-ame) ซึ่งไม่ว่าจะตัดตรงไหนก็จะปรากฎภาพของคินทะโรให้เห็น ความเป็นเอกภาพนี้มีสาเหตุเนื่องจากมีชาวญี่ปุ่นอาศัยอยู่หนาแน่นในประเทศญี่ปุ่นอันคับแคบและเนื่องจากชนชาติญี่ปุ่นดำเนินชีวิตประจำวันอยู่ภายใต้การควบคุมที่เข้มงวดถี่ถ้วนของผู้ปกครองประเทศมาเป็นเวลานานสร้างค่านิยมให้ชาวญี่ปุ่นต้องคิดถึงกลุ่มองค์กรที่ตนสังกัดหรือประเทศชาติมากกว่าตัวบุคคล

การทำให้เป็นของญี่ปุ่น
ชาติญี่ปุ่นมักจะแปลวัฒนธรรมที่มาจากภายนอกให้เป็นสิ่งใหม่ที่ตนเองชอบได้เป็นอย่างดีตัวเอย่างที่ชัดเจนจากประวัติศาสตร์ก็คือ การดัดแปลงอักษรจีน (Kanji) ให้เป็นอักษรของตนเอง (Kana) แล้วใช้อักษรนั้นเขียนผลงานต่างๆ เช่น นิยายดีเด่นในสมัยเฮอันที่รู้จักกันดี คือ
เก็นจิ โมะโนะงะตะริ (Genji Monogatari)
ศาสนาพุทธในสมัยคะมะคุระ ก็เป็นตัวอย่างของการทำให้เป็นของญี่ปุ่น ศาสนาพุทธเข้ามาสู่ญี่ปุ่นตั้งแต่คริสศตวรรษที่ 6 แต่เพิ่งจะได้รับการยอมรับว่าไม่ใช่ศาสนานอกของชนชาติญี่ปุ่น โดย โฮเน็น และศิษย์นาม ชินรัน ในสมัยคะมะคุระ โฮเน็นสอนว่าการสวดมนต์ถึงพระพุทธองค์ สามารถไถ่ถอนสิ่งอกุศลได้ทั้งปวง ส่วนชินรันได้ย้ำว่าพระพุทธองค์นั้นได้เตรียมสวรรค์ไว้ให้แก่ผู้มีใจกุศลและ
ลงโทษผู้มีใจอกุศล คำสอนของทั้งสองเป็นสิ่งที่เข้าใจง่ายสำหรับชาวญี่ปุ่น จึงได้รับความศรัทธาจากประชาชนตั้งแต่นั้นมา


การเน้นหนักในรูปธรรม

ชาวญี่ปุ่นให้ความสำคัญในรูปธรรมมากกว่านามธรรม ให้น้ำหนักวิธีการมากกว่าหลักการ การเปลี่ยนพุทธศาสนาจากหลักปรัชญามาเป็นการพูดถึงบาปบุญคุณโทษและบุญกุศลในชาตินี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง การนำวิธีการของลัทธิขงจื้อมาใช้ในการปกครองหัวเมืองสมัยเอะโดะมากกว่าจะยึดหลักปรัชญามาสั่งสอนก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง หรือแม้แต่จนสมัยปัจจุบัน ที่ชาวญี่ปุ่นสนใจวิทยาศาสตร์ประยุกต์มากกว่าวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ก็จะสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะวัฒนธรรมนี้เป็นอย่างดี

CR. http://www.tpa.or.th/jsociety/content.php?act=view&id=212

ใส่ความเห็น